“ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง” ประโยควรรคทอง เปรียบเสมือนน้ำทิพย์ชโลมใจ ยามเมื่อนำเอาร่างต้านแรงโน้มถ่วงของโลกเพื่อพบกับจุดหมายปลายทางที่ “หลังแป” หรือที่ราบบนภูกระดึง ในระยะทางขึ้นเขาร่วม 5 กิโลเมตร ต่อให้ไม่ใช่นักเดินป่าตัวจริงก็เรียกเสียงหายใจแฮก ๆ สลับกับจังหวะเต้นถี่ของหัวใจไม่ต่างกัน ธรรมชาติที่สวยงามและความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า กลายเป็นคำเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนปีละหลายหมื่นคน และหนึ่งในจำนวนนั้นคนที่เคยขึ้น-ลงภูกระดึงมาแล้วมากกว่า 1 ครั้ง ก็มีให้เห็นอยู่ดาษดื่น และนำไปสู่คำถามที่ว่า “ทำไมภูกระดึงยังคงเป็นตำนานยืนหนึ่งคู่กับนักเดินป่า ?”
ภูกระดึง ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 2 ของประเทศไทย มีลักษณะเป็นภูเขาหินทรายยอดตัดรูปหัวใจ โดยคำว่า ภูกระดึง มาจากคำว่า ภู แปลว่า ภูเขา และ กระดึง แปลว่า กระดิ่ง เป็นภาษาถิ่นของจังหวัดเลย ภูกระดึง จึงแปลได้ว่า ระฆังใหญ่ ซึ่งหลากหลายเหตุผลที่ภูกระดึงยังคงเป็นลิสต์ติดอันดับในดวงใจของนักท่องเที่ยวสายเดินป่า ด้วยการเดินทางที่ค่อนข้างสะดวกสบาย ไม่ต้องดั้นด้นบุกป่าฝ่าดงมากนัก เพียงแค่นั่งรถทัวร์มาลงที่ร้านเจ๊กิม ร้านตรงบริเวณจุดจอดรถผานกเค้า เพื่อนั่งรถสองแถวต่อเข้าไปยังอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ด้วยขั้นตอนการเดินทางที่ไม่ยุ่งยาก จึงทำให้ไม่ต้องโหมแรงเสียพละกำลังขาไปก่อนล่วงหน้า เราจึงพบเห็นใบหน้านักท่องเที่ยวหลายคนที่ยังคงเปื้อนยิ้มและแรงฮึดอย่างเต็มเปี่ยม
วิถีแห่งลูกหาบ ณ ภูกระดึง
เมื่อเข้ามาในส่วนของที่ทำการอุทยานแล้วเรียบร้อย หากใครที่ยังไม่ได้ติดต่อจองที่พักและเต็นท์ผ่านทางระบบออนไลน์ สามารถดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ได้เลย เมื่อเสร็จขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ขั้นต่อไปก็ถึงเวลาคำนวณสัมภาระของตัวคุณเอง ถ้าคิดว่าไม่อยากแบกน้ำหนักส่วนเกินนี้ไปด้วยแน่ ๆ แล้ว อย่าลืมติดต่อใช้บริการลูกหาบ โดยการติดต่อรับบัตรคิว ซึ่งอัตราค่าบริการต่อกิโลกรัมอยู่ที่ราคา 30 บาท
ไม่นานเราจะเห็นลูกหาบทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่เดินหน้าเข้าพร้อมปฏิบัติการ ไม้ไผ่ท่อนยาวท่อนแล้วท่อนเล่าถูกจองด้วยน้ำหนักกระเป๋าแต่ละใบที่เอาขึ้นตาชั่ง นาทีนี้เราแอบสังเกตว่าขนาดของกล้ามเนื้อน่องขาและหัวไหล่ของแต่ละคนบ่งบอกถึงประสบการณ์ความเก๋าของลูกหาบแต่ละคน ยิ่งจำนวนกระเป๋ามากใบเท่าไร นั่นหมายถึงจำนวนเงินรายได้ที่ลูกหาบแต่ละคนจะได้รับ ซึ่งคนที่ประกอบอาชีพนี้ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นคนเลย หรือไม่ก็เป็นเขย-สะใภ้ภูกระดึง ดังนั้น ตลอดช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวรวม 8 เดือนของภูกระดึง (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึง 31 พฤษภาคม ของทุกปี) จึงถือเป็นช่วงเวลาแห่งนาทีทอง ที่พวกเขาเหล่านี้มีรายได้อื่นนอกเหนือไปจากอาชีพที่ทำอยู่ การใช้บริการลูกหาบนอกจากจะแบ่งเบาภาระของเราแล้ว จึงถือเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกด้วย
เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
การขึ้นภูกระดึงจะแบ่งเป็นซำต่าง ๆ โดยจะต้องเดินฝ่าด่านทั้งหมด ไล่เรียงตั้งแต่ ซำแฮก…ซำบอน…ซำกกกอก…ซำกกหว้า…ซำกกไผ่…ซำกกโดน…ซำแคร่ แต่โดยรวมแล้วเส้นทางถือว่าง่าย ไม่ลำบากมากนัก แต่ในคำว่าง่ายก็ไม่ได้แปลว่าหนทางโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะองศาความสูงชันก็ทำเอาเสียกำลังขาไปมากโข การหยุดพักซำต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็น หลากหลายสารพัดเมนูอาหาร ของกินเล่นต่าง ๆ จัดวางเรียงเขียนเป็นเมนูให้ได้เห็น เพียงแค่เอ่ยออกไป ไม่นานพลังกายของคุณก็จะคืนกลับมาอีกครั้ง “ใกล้แล้ว สู้ ๆ” “อีกไม่ไกลแล้ว” และบรรดาสารพัดประโยคปลุกใจที่ได้ยินจากเพื่อนร่วมทางแปลกหน้า มิตรภาพระหว่างทางจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย เหมือนดั่งธรรมชาติอันสมบูรณ์ตลอดสองข้างทางการเดินขึ้นภูกระดึง
ในบรรดาการพิชิตซำทั้งหลายนั้น ถ้าจะถามว่าซำไหนเป็นซำปราบเซียน เห็นทีต้องยกให้ช่วงระหว่างซำแคร่-หลังแป เพราะค่อนข้างโหดและชัน และเมื่อขึ้นมาถึงหลังแปแล้ว คราวนี้ก็เหลือแต่พื้นราบระยะทาง 3 กิโลเมตร เพื่อเดินเข้าสู่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่เรื่องเต็นท์นอนและถุงนอน รวมถึงบ้านพัก (ตามแต่ละกรณีที่ทำเรื่องจองไว้) เข้าที่พัก หาข้าวหาปลากิน แล้วก็พักผ่อนเตรียมแรงไว้สำรวจแหล่งท่องเที่ยวบนภูกระดึงในวันต่อไป
การเดินทาง
การเดินทางจาก บ้านสวนโฮมสเตย์ ไปอุทยานแห่งชาติภูกระดึงใช้เวลาเดินทางประมาณ 43 นาที
แหล่งที่มา https://www.dasta.or.th/th/article/269